ทรงคำนึงเห็นอุปนิสัยเวไนยสัตว์
เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า จึงรับอาราธนา

ท้าวสหัมบดีพรหมที่เสด็จมากราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดง
ธรรมประกาศพระศาสนาโปรดชาวชาวโลก ดังที่ได้บรรยายไว้ในภาพที่ ๓๒
นั้น เป็นเรื่องที่กวีแต่งเป็นปุคคลาธิษฐาน คือ แต่งเป็นนิยายมีบุคคลเป็นตัว
แสดงในเรื่อง ถ้าถอดความเป็นธรรมาธิษฐาน หรืออธิบายกันตรง ๆ ก็คือ
สหัมบดีพรหมนั้น ได้แก่พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ถึงพระพุทธเจ้าจะทรงท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรม แต่อีกพระทัยหนึ่งซึ่งมี
อำนาจเหนือกว่า คือ พระมหากรุณา และพระมหากรุณานี่เองที่เป็นเหตุให้
พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยว่าจะทรงแสดงธรรม หลังจากตัดสินพระทัยแล้ว
จึงทรงพิจารณาดูอัธยาศัยของคนในโลก แล้วทรงเห็นความแตกต่างแห่ง
ระดับสติปัญญาของคนถึง ๔ ระดับ หรือ ๔ จำพวก

จำพวกที่หนึ่งฉลาดมาก เพียงแต่ได้ฟังหัวข้อธรรมที่ยกขึ้นก็เข้าใจทันที
จำพวกที่สองฉลาดพอควร ต่อเมื่อฟังคำอธิบายอีกชั้นหนึ่งจึงเข้าใจ
จำพวกที่สามฉลาดปานกลาง ที่เรียกว่าเวไนยสัตว์ ต้องใช้เวลาอบรมบ่มสตัญญาพอควรจึงจะเข้าใจ
จำพวกที่สี่เรียกว่า 'ปทปรมะ' ตรงกับภาษาไทยว่า โง่ทึบ ตรงกับคำอังกฤษว่า Idiot เป็นคนที่ใครโปรดไม่ได้ เรียกสำนวนหนึ่งว่า ผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงทอดทิ้ง

จำพวกที่หนึ่ง เหมือนดอกบัวเปี่ยมน้ำ พอได้รับแสงอาทิตย์ก็บาน ที่สอง
เหมือนดอกบัวใต้น้ำที่จะโผล่พ้นน้ำ และที่จะบานในวันรุ่งขึ้น ที่สาม เหมือน
ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปหน่อย ซึ่งจะแก่กล้าขึ้นมาบานในวันต่อ ๆ ไป และ
ที่สี่ เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปมาก ถึงขนาดไม่อาจขึ้นมาบานได้
เพราะตกเป็นภักษาของปลาและเต่าเสียก่อน ระดับแตกต่างแห่งสติปัญญา
ของคนในโลกที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นดังกล่าวนี้คือ สิ่งที่ภาษาจิตวิทยาทุกวัน
นี้ เรียกกัน ไอ.คิว. ของคนนั่นเอง

ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด ทรง
มองเห็นภาพของดาบสทั้งสอง ที่พระองค์เคยเสด็จไปทรงศึกษาอยู่ด้วย แต่
ทั้งสองท่านนั้นก็สิ้นชีพเสียแล้ว ทรงเห็นเบญจวัคคีย์ว่ายังมีชีวิตอยู่ จึงทรงตั้ง
พระทัยเสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์เป็นอันดับแรก

Copyright © 2002 Mahidol University All rights reserved.
Mahidol University Computing Center, Rama VI Road, Rajathewi, Bangkok 10400, THAILAND Tel. (662) 354-4333