Call : +66 2849 6565

 

สานต่อแนวคิด ประสิทธิ์งบประมาณ - พรชัย  มาตังคสมบัติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล 9 ธันวาคม 2542 - 8 ธันวาคม 2550

แนวคิดริเริ่มในการสร้างหอประชุมใหญ่เพื่อใช้สำหรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมีมาตั้งแต่สมัยศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ และศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวนิช สมัยนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลใช้หอประชุมราชแพทยาลัยเป็นสถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แต่หอประชุมราชแพทยาลัยมีขนาดเล็ก เมื่อมีจำนวนบัณฑิตเพิ่มมากขึ้น หอประชุมราชแพทยาลัยไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างหอประชุมใหญ่ขึ้น

“มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดมานาน 120 ปี แล้ว ควรที่จะมีหอประชุมเป็นของตัวเอง มหาวิทยาลัยที่เกิดมาไม่กี่สิบปี เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ล้วนแล้วแต่มีหอประชุมที่ใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและการประชุมระดับประเทศได้”

มหาวิทยาลัยมหิดล สมัยศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ ต่อด้วยศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวนิช เป็นอธิการบดี ได้รับพระราชทานพระนาม “มหิดล” ให้เป็นนามใหม่ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และได้รับพระราชทานที่ดินที่ศาลายาให้จัดตั้งเป็นวิทยาเขตใหม่ ท่านได้คิดในเรื่องมาสเตอร์แพลน (Master Plan) ของหอประชุมใหญ่ ซึ่งเดิมทีหันไปทางถนนบรมราชชนนีและเป็นส่วนที่กันไว้ทำสำนักงานอธิการบดี หรือหอประชุม แต่ภายหลังเราเอาตึกเรียนรวมของคณะวิทยาศาสตร์ทำเป็นสำนักงานอธิการบดีไปแล้ว ส่วนหอประชุม ก็จะสร้างในบริเวณนี้เหมือนเดิม อันที่จริงแนวคิดนี้มีมาตั้งแต่เดิม แต่จังหวะไม่ลงตัว ต้องลงทุน และใช้งบประมาณค่อนข้างมาก จึงต้องรอเวลาในการดำเนินการในด้านต่างๆ ช่วงแรกทุ่มเทให้ศาลายามีการจัดการเรียนการสอน ที่พักนักศึกษาและที่พักอาจารย์ให้เพียงพอ และคณะใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนคณะที่ย้ายไปก็ต้องมีสถานที่รองรับ สมัยศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี และศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกิดภาวะฟองสบู่แตกเมื่อปี พ.ศ. 2540 จึงไม่พร้อมในการสร้างหอประชุม บางคนอาจจะคิดว่าผมเป็นคนคิด แต่ผมเป็นคนที่นำแนวคิดเรื่องการสร้างหอประชุมมาสานต่อ ซึ่งเป็นแนวคิดดั้งเดิมจากอธิการบดีรุ่นก่อนๆ โชคดีที่ผมได้อยู่ 2 สมัย เลยได้ทำ สมัยแรกที่ผมเข้ามาหลังจากฟองสบู่แตกก็ไม่มีใครอยากให้เราทำ พอถึงสมัยที่ 2 เป็นจังหวะที่ได้งบประมาณ ปลายปี 2549 ที่ได้ค่าออกแบบมาเล็กน้อย เราอยากให้อาคารแห่งนี้มีลักษณะพิเศษกว่าอาคารอื่นทั่วไป ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยให้อาคารหอประชุมแห่งนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย นอกจากการจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ควรสามารถรองรับการแสดงดนตรี Symphonic Orchestra อุปรากร และการประชุมระดับชาติและนานาชาติได้ ควรเป็นอาคารที่มีความโดดเด่น สามารถสะท้อนและสอดแทรกแนวคิดเชิงสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลโดยได้รับคำปรึกษาจาผู้ทรงคุณวุฒิด้านสถาปัตยกรรม เช่น อาจารย์อำนวย สุวรรณคีรี อาจารย์พิชัย วาศนาส่ง อาจารย์อาวุธ เงินชูกลิ่น จึงได้จัดให้มีการประกวดแบบการก่อสร้าง มีบริษัทเข้าร่วมประกวดกว่า 10 บริษัท ผลการตัดสิน ปรากฏว่า บริษัท สถาปนิก 49 เป็นผู้ชนะการประกวดด้วยการนำเสนอแนวคิดของโครงสร้างในลักษณะอิงธรรมชาติ แสดงความเป็นไทย มีโครงสร้างผสมผสานรูปทรงดอกกันภัยมหิดล อันเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล กับรูปทรงสรีระร่างกายของมนุษย์อันเป็นพื้นฐานเชิงสัญลักษณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัยมหิดล

ตอนออกแบบประกวดก็ได้ลักษณะตามที่ได้กล่าวไว้ วิธีที่เราประกวดนั้น ผมเข้าใจว่าเป็นที่กล่าวขานทั่ววงการสถาปัตยกรรม (Architecture) ซึ่งต่างพากันชื่นชมวิธีการทำโครงการใหญ่ๆ สำคัญๆ ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปมาแสดงแนวคิด และมีคนมาช่วยตัดสินว่า ควรจะเป็นแบบไหน อย่างเปิดเผย และโปร่งใส ผลออกมาคือเป็นที่ประทับใจของคนที่มาประกวดด้วยกัน เสียงมติเป็นเอกฉันท์ และเป็นที่ยอมรับในผลการประกวดครั้งนี้ ในส่วนของเรื่องเงินในตอนนั้นสำนักงบประมาณมีกติกาว่าถ้าโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จะมีความสะดวก เราเลยออกแบบให้หอประชุมมีความจุประมาณ 2,200 กว่าคน แต่พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของเราคงต้องใช้ 5,000 – 6,000 คน เราจึงต้องมีอาคารเพิ่มผนวกไว้ (Annex) ที่คู่กันมาเพื่อรองรับอีกประมาณ 3,500 คน ด้วยเงื่อนไขที่จะทำให้ได้งบประมาณในปี 2549 หรือ 2550 โดยไม่ติดขัด จึงต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก 990 กว่าล้านบาท พออนุมัติผ่านจึงเริ่มทำเฟสต่อไป ผมไม่แน่ใจว่าตึกนี้จะได้สร้างไหม เมื่อถึงคราวที่ผมหมดวาระแล้ว แต่ถ้าไม่ได้สร้าง ก็น่าเสียดาย เพราะเป็นงานที่กำหนดไว้ (Function) ถ้าไม่มีก็จะทำให้พิธีพระราชทานปริญญาบัตรไม่สมบูรณ์ ก็คือว่ามีที่สำหรับ 3,500 คน และ 2,200 คน มีการทยอยออก และกลุ่มใหม่เข้าไป ถ้าไม่มีความต่อเนื่องและไม่ศึกษาแนวคิดที่มีไว้แต่เดิมว่าเป็นอย่างไร การใช้งานจะไม่สมบูรณ์ และเกิดความติดขัดด้วยปัจจัยหลายสิ่ง

มหิดลสิทธาคาร จึงมิได้เป็นเพียงสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ (Landmark) ของศาลายา หรือของมหาวิทยาลัยมหิดลเท่านั้น แต่น่าจะเป็น landmark ของกรุงเทพฯ หรือของประเทศไทยด้วย ผมรู้สึกเสียดายที่เอาต้นไม้ไปปลูกบัง โดยไม่ได้ศึกษาที่ออกแบบไว้ว่าเป็นมาอย่างไร ทำอะไรโดยไม่ศึกษาแนวคิดของคนมาก่อน ว่าเขาวางแบบมาอย่างไร เพราะถนนบรมราชชนนีเป็นถนนที่มีคนผ่านจำนวนมาก ควรจะมองเห็นทัศนียภาพและความงดงามของตึกได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่เสี้ยววินาที แต่ควรจะเห็นสัก 10 – 15 วินาที

“ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของผู้ใหญ่ที่มาช่วยเป็นกรรมการประกวดแบบ ล้วนแต่เป็นปูชนียบุคคลของวงการสถาปัตยกรรม เป็นคนที่เขารักเรา รักมหาวิทยาลัยมหิดล เต็มใจที่จะมาทำให้ ให้เวลามาดูรายละเอียด มาถกกัน มาคุยกัน ผมเองซึ่งไม่ประสีประสาเรื่องพวกนี้ ได้เรียนรู้เรื่องนี้จากผู้ใหญ่เหล่านี้พอสมควร เป็นประสบการณ์เรียนรู้อีกแบบหนึ่ง รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณผู้ใหญ่เหล่านี้ทุกท่าน และเจ้าของบริษัทที่ออกแบบ ต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติอีก(นิธิ สถาปิตานนท์ เจ้าของบริษัท A49 จำกัด) ที่จริงเขาก็เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งเวลาประกวดเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เขาเป็นคนรับผิดชอบงานอย่างละเอียดลึกซึ้ง (absorbed) จึงจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงมาจากอังกฤษ เขารู้ว่าเราต้องออกแบบตั้งแต่ต้นให้ดี วางแผนเรื่องอุปกรณ์ เขาจ้างผู้เชี่ยวชาญ โดยให้เราเลือกหา แล้วเขาออกค่าใช้จ่ายให้ เป็นเรื่องที่ผมไม่ได้คาดไว้ เป็นเรื่องที่เขาเสนอให้มาเอง เขาอยากเห็นชิ้นงานที่เขาอยากจะให้ออกมาดี ก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ อีกส่วนหนึ่งของหอประชุม จะเรียกว่าหอเกียรติยศ (Hall of fame) ที่ออกแบบไว้ดั้งเดิมเป็นของมหาวิทยาลัย โดยจะเน้นพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมราชชนก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานพระนามเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย และคงต้องย้อนไปถึงสมัยพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช เราถือว่าศิริราชเป็นหน่วยแรก เมื่อ 120 กว่าปีก่อน เป็นราชแพทยาลัย ช่วงหนึ่งก็ไปอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 26 ปี กลับออกมาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แล้วจึงเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้จะเป็นหอประวัติศาสตร์หอเกียรติยศ เพื่อเทิดพระเกียรติทุกพระองค์”

ประสานก่อสร้าง สู่แนวทางสากล - ปิยะสกล สกลสัตยาทร

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล 9 ธันวาคม 2550 – 8 ธันวาคม 2554

ผมคิดว่าหอประชุมเป็นความฝันของชาวมหิดลทุกคน สมัยที่ผมเป็นบัณฑิตแพทย์ เรารับพระราชทานปริญญาบัตรที่หอประชุมราชแพทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งมีขนาดเล็ก ดูศักดิ์สิทธิ์ เก่า และได้รับการบูรณะไว้เป็นอย่างดี แต่ไม่ทันการขยายตัวของ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาจึงย้ายไปรับพระราชทานปริญญาบัตรที่สวนอัมพรเป็นสิบๆ ปี เพราะเรายังไม่มีพื้นที่อื่น ในขณะที่มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เขาเริ่มด้วยการสร้างหอประชุมก่อน มหิดลเรามุ่งผลิตบัณฑิตและมุ่งผลิตผลงานวิจัยก่อนเป็นเรื่องหลัก การสร้างหอประชุมจึงเป็นเรื่องรอง

ในวาระที่อาจารย์พรชัย (ศาสตราจารย์นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ) ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มีแนวคิดว่า มหาวิทยาลัยมหิดลไม่ควรต้องร่อนเร่ไปหาสถานที่อื่นเพื่อรับพระราชทานปริญญาบัตรอีกต่อไป ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เราย้ายพื้นที่หลักของมหาวิทยาลัยมหิดลไปอยู่ที่ศาลายานานหลายปีแล้ว ผมคิดว่าเป็นความกล้าหาญของท่านอธิการบดีพรชัย ที่มุ่งจะสร้างหอประชุมให้ชาวมหิดลได้รับพระราชทานปริญญาบัตรในหอประชุมของเราเอง

หอประชุมนี้ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญคำนึงถึงความเป็นมหิดล และความเป็นไทย มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์หลายด้าน มิใช่เพียงแค่รับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งปีหนึ่งมีเพียงครั้งเดียวและใช้เวลารวมแค่ 5 วันเท่านั้น เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ต้องออกแบบหอประชุมเพื่อให้ใช้อีก 360 วันที่เหลือ ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม การศึกษาการเรียนรู้ และก่อให้เกิดรายได้ (Generate income) เข้ามา เพื่อจะบำรุงรักษาอาคารแห่งนี้ให้ใช้การได้ดีและมีความยั่งยืน จึงต้องวางแผนเรื่องนี้ก่อนของบประมาณ แบบแปลนก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่วาระอาจารย์พรชัย แต่ยังไม่มีงบประมาณ เมื่อผมดำรงตำแหน่งอธิการบดี การของบประมาณมีความชัดเจนขึ้น รัฐบาลมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งพึ่งตนเองมากขึ้น ในที่สุดการขอตั้งงบประมาณก่อสร้างหอประชุมนี้ รัฐบาลให้งบส่วนหนึ่งคือ 50% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 50% มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสมทบด้วยเงินรายได้ในวงเงินทั้งหมด 1,048 ล้านบาท

ก่อนการลงมือก่อสร้าง มหาวิทยาลัยได้นำคณะทำงานไปดูงานที่ Esplanade Theatre ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเรียนรู้โครงการที่เขาทำสำเร็จมาแล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของเรา รูปแบบการก่อสร้างของ Esplanade นั้น ภายในใช้แสดงคอนเสิร์ตได้ ข้างในเป็นรูปทรงคล้ายกล่องรองเท้าหุ้มด้วยหลังคาคล้ายเปลือกทุเรียน หอประชุมของเราก็คล้ายกันแต่หุ้มด้วยโครงสร้างที่แสดงความเป็นมหิดลและความเป็นไทย นอกจากนี้เรายังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการบริหารจัดการอย่างละเอียดด้วย สิ่งที่ได้และสำคัญที่สุดสำหรับมหิดลสิทธาคารเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ คือ การบริหารจัดการ เราจำเป็นต้องหากลุ่มบุคคลมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต้องทำงานในเชิงรุก ไม่ใช่เชิงรับ ต้องบริการสังคมด้วย สร้างรายได้ด้วย สร้างประโยชน์ให้แก่การศึกษาให้เยาวชนของชาติได้รับประโยชน์ด้วย ซึ่งมหิดลสิทธาคารมีคุณสมบัติพร้อม คือได้ออกแบบเป็นหอแสดงดนตรี (Concert Hall) ที่ดีและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคสามารถแสดงคอนเสิร์ตชั้นเยี่ยมในระดับโลก สามารถจัดการประชุม สัมมนาในระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดี อาจมีปัญหาบ้างที่การเดินทาง เพราะศาลายาอยู่ค่อนข้างไกลจากกรุงเทพฯ แต่มหาวิทยาลัยได้ประสานกับกระทรวงคมนาคมแล้ว ในเรื่องรถไฟฟ้าซึ่งจะมีโครงการมาถึงศาลายาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

แบบแปลนที่วางไว้ จะมีอาคารอื่นเป็นส่วนประกอบด้วย แต่เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณจึงจำเป็นต้องสร้างหอประชุมก่อน แล้วอาคารอื่นๆค่อยสร้างตามมาทีหลัง ถ้าต้องการทีเดียวทั้งหมดอาจไม่ได้อะไรเลย “Think big, start small, Show small success along the way.” การบริหารมหาวิทยาลัย บางครั้งจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องได้ใจจากส่วนรวม บุคลากรส่วนใหญ่ควรเห็นชอบและเห็นด้วย มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการทำให้ทุกคนเห็นว่าหอประชุมแห่งนี้เป็นประโยชน์แก่ทุกคน เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ ในที่สุดทุกคณะยินดีที่จะลงเงินร่วมกันในการก่อสร้างอาคารนี้ให้สำเร็จขอชื่นชมคณะทำงานของท่านรองอธิการบดี สรนิต (รองศาสตราจารย์นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม) ซึ่งแม้ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย แต่ก็สามารถฟันฝ่าจนสำเร็จผล คือได้หอประชุม และ Concert Hall ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค

การเลือกสถานที่ก่อสร้างหอประชุม ก็ค่อนข้างลำบาก แต่โชคดีที่มีคณะทำงานวางแผนแม่บท (Master plan) ที่ดี นำโดยท่านรองอธิการบดีอนุชาติ (รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี) ได้มีการวางกฎเกณฑ์ไว้ชัดเจน โดยเสนอขอสภามหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลที่ศาลายาจะมีพื้นที่สีเขียว 60% และพื้นที่สร้างอาคารคลุมดิน 40% หอประชุมได้จัดให้อยู่กลางของพื้นที่โซนวัฒนธรรม โดยมีอาคารศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระราชบิดาอยู่เป็นศูนย์กลางของศาลายา การจัดภูมิทัศน์ต้องมีการวางแผนอย่างถี่ถ้วน มีแนวคิดชัดเจน มีหลักการและหลักเกณฑ์ มองทุกอย่างเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งการจัดสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับการศึกษา การวิจัยเพื่อให้ทุกคนที่อยู่อาศัยที่ศาลายาสามารถอยู่และเรียนรู้ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน นับเป็นแบบอย่างที่ก่อประโยชน์ต่อคนภายนอกและสังคมไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นสถานที่ตั้งจึงอยู่ในตำแหน่งที่โล่ง ติดถนนใหญ่ เพื่อให้ผู้ที่สัญจรผ่านไปมา ได้มองเห็นหอประชุมนี้เด่นเป็นสง่า เห็นความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลโดยไม่ลดความสำคัญของพุทธมณฑลลง แต่กลมกลืนไปด้วยกัน สิ่งอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัย เช่น ปฏิมากรรมดอกกันภัยมหิดล พระราชานุสาวรีย์ อาคารศูนย์การเรียนรู้ ก็ตั้งอยู่ในแนวเดียวกัน ด้วยแบบของอาคารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะการก่อสร้างจึงทำได้ยาก อาคารส่วนใหญ่สร้างพื้น ผนังแล้วจึงสร้างหลังคา แต่อาคารนี้สร้างหลังคาก่อน แล้วค่อยสร้างส่วนที่เหลือ ทำให้มีนิสิต นักศึกษา อาจารย์และสถาปนิกมาดูงานที่โครงการก่อสร้างตลอดเวลา เมื่อสร้างเสร็จคาดว่าหอประชุมแห่งนี้จะเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง

ในเรื่องชื่อของอาคารซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทางมหาวิทยาลัย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายข้อมูลเกี่ยวกับเจตนารมณ์ในการสร้างอาคารนี้ และได้รับพระราชทาน ชื่อ “มหิดลสิทธาคาร” หมายถึง อาคารที่มีความสำเร็จแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น คำว่า “มหิดลสิทธาคาร” ความหมายในภาษาอังกฤษ อาจไม่สื่อให้คนต่างประเทศรู้ว่าคืออะไร สภามหาวิทยาลัย จึงอนุมัติให้ใช้ชื่ออาคารแห่งนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า “Prince Mahidol Hall” ซึ่งสามารถสื่อถึง สมเด็จพระราชบิดา Prince Mahidol และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นอย่างดี

ขอฝากถึงทุกคนว่า “มหิดลสิทธาคาร” คือฝันที่เป็นจริง คือความสง่างามและความภาคภูมิใจของชาวมหิดล ทุกคน ต้องช่วยกันบำรุงรักษา ช่วยกันบริหารจัดการให้ดีอย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ถือตามคำของพระราชบิดาที่พระราชทานไว้ว่า “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่าน ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” คนเราถ้ามุ่งทำแต่สิ่งที่ดี วันหนึ่งความดีจะปรากฏให้เห็นเอง

สัมฤทธิผล  มหิดลสิทธาคาร - รัชตะ  รัชตะนาวิน

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน

อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล 9 ธันวาคม 2554 – 31 ธันวาคม 2557

นโยบายการสร้างหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยเพื่อใช้ในการพระราชทานปริญญาบัตร มีมาตั้งแต่สมัยศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ และศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวณิช ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และเป็นความพยายามของอดีตอธิการบดีทุกท่านที่อยากเห็นมหาวิทยาลัยมหิดลมีหอประชุมใหญ่เป็นของตัวเอง ตอนนั้นเพิ่งเกิดศาลายา ต้องใช้เงินมากในการสร้างอาคารต่างๆ เพื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะในสมัยศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อรรถสิทธ์ิ เวชชาชีวะ และศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี เกิดภาวะฟองสบู่แตกก็ยิ่งเป็นปัญหา ความหวังของชาวมหิดลมาสัมฤทธิ์ผลเมื่อ สมัยอดีตอธิการบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ได้รับงบประมาณในปี 2549 เพื่อดำเนินการออกแบบและก่อสร้างอาคาร

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตอธิการบดี ได้สานต่อโครงการ โดยเริ่มดูแลในส่วนของการขอยกเว้นด้านความสูงของอาคาร และว่าจ้างหาบริษัทที่ปรึกษาซึ่งได้ บริษัท แปลน คอนซัลแตนท์ส จำกัด และจัดประมูลหาบริษัทผู้ก่อสร้างซึ่งได้บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) การก่อสร้างดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงสมัยที่ผมเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิการบดี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554

การเข้ามาดูแลในเรื่องของการก่อสร้างโครงสร้างภายนอกและการตกแต่งภายใน ได้ปรึกษาหารือกับท่านคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มีความเห็นร่วมกันว่ามหิดลสิทธาคารลงทุนด้วยงบประมาณที่สูงมาก ควรจะมีระบบเสียงที่เป็นเลิศ แทนที่จะใช้หอประชุมนี้เฉพาะพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเพียงอย่างเดียว มหิดลสิทธาคารยังเป็นสถานที่ที่ใช้ในการแสดงประเภทต่างๆ ได้อีกเช่น การแสดงคอนเสิร์ต ละครเพลง บัลเลต์ อุปรากร หรือโขนก็ได้ ระบบเสียงจึงต้องทำให้ดีที่สุด ในที่สุดจึงมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท มูลเลอร์ จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มานำเสนอแผนพัฒนาระบบเสียงให้สมบูรณ์แบบ เพื่อให้มหิดลสิทธาคารเป็นอาคารที่มีระบบเสียงที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยทางมหาวิทยาลัยจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม จึงทำให้มหิดลสิทธาคารมีโอกาสที่จะรับงานใหญ่ๆ ในระดับสากล นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุงการตกแต่งภายในให้เหมาะสมขึ้น ส่วนระบบปรับอากาศของมหิดลสิทธาคารเป็นระบบที่ทันสมัย โดยใช้การพ่นความเย็นออกมาจากพื้น จึงทำให้เงียบและไม่มีเสียงรบกวน ซึ่งมีความสำคัญมากต่อห้องประชุมระดับนี้

ในด้านภูมิทัศน์หากเรามองมหิดลสิทธาคารจากศูนย์การเรียนรู้ จะมีแนวต้นไม้บังอยู่ ถ้าปรับแนวต้นไม้เล็กน้อย จะเห็นแนวถนนเป็นเส้นตรง ด้านหนึ่งเป็นพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และอีกด้านหนึ่งจะเป็นมหิดลสิทธาคาร ตอนนี้เรากำลังปรึกษากับสถาปนิก เรื่องการย้ายต้นไม้ เมื่อเสร็จแล้วจะเป็นภูมิทัศน์ที่สง่างามมาก ในด้านการบริหารอาคาร มหาวิทยาลัยมุ่งการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เนื่องจากมหิดลสิทธาคารเป็นหอประชุมขนาดใหญ่ จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เช่น ค่าไฟ ค่าบริหารจัดการบุคลากร การดูแลระบบต่างๆ ดูแลอาคารทั้งภายในและภายนอก และการทำความสะอาด มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการให้มหิดลสิทธาคารสามารถมีงบประมาณดูแลตัวเองได้ ถ้ามีหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มาขอเช่าสถานที่ก็ยินดี ในระยะแรกมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนในเบื้องต้นโดยใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัยในการดูแลให้มีกิจกรรมที่สำคัญเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เช่น ในปีนี้มีการจัดงานคอนเสิร์ตปีใหม่ ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ในวันที่ 23 มีนาคม 2557 จะมีการแสดงคอนเสิร์ตโตเกียวฟิลฮาร์โมนิกออร์เคสตราและ ในวันที่ 17 เมษายน 2557 จะมีการเปิดตัว มหิดลสิทธาคาร อย่างเป็นทางการ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในพิธีเปิด และในเดือนกันยายนจะจัดมหิดลคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกโดยจะเชิญทูตานุทูต คณะรัฐมนตรี องคมนตรี แขกผู้ใหญ่เข้าร่วมงาน เป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนก สำหรับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จะมีการจัดแสดง Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) ที่มหิดลสิทธาคาร

ในด้านโครงสร้างการบริหาร จะมีหน่วยงานสังกัดสำนักงานอธิการบดีเข้ามาดูแลอาคารใหญ่ 4 แห่งที่ต้องการการบริหารจัดการ คือ

1. มหิดลสิทธาคาร

2. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกชาติ

3. อาคารเรียนรวม

4. อาคารศูนย์การเรียนรู้

ซึ่งหอประชุมมหิดลสิทธาคาร จะให้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยจะทำหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษาทางกายภาพ เครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบปรับอากาศ น้ำ-ไฟ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากอาคารทั้งสี่ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จะมีคณะกรรมการอำนวยการที่ประกอบด้วยผู้บริหารภายในมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เป็นผู้ดูแลกำกับนโยบาย และสนับสนุนให้เกิดการจัดการอาคารดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดความยั่งยืนพึ่งพาตนเองได้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนามหอประชุมแห่งนี้ว่า“มหิดลสิทธาคาร” ซึ่งมีความหมายว่าอาคารที่มีความสำเร็จแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนิน แทนพระองค์ทรงเปิดมหิดลสิทธาคารอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 17 เมษายน 2557 นั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นความภาคภูมิใจที่สุดของชาวมหิดล

 

 

 

 

 

Pricing Information & Packages (THB)

 

 
No. Area For Faculty, Mahidol For Other
Not over 4 Hr. 4 - 8 Hr. Over 8 Hr.(1 Hr : THB) Not over 4 Hr. 4 - 8 Hr. Over 8 Hr.(1 Hr : THB)
1 All Area (Setup)         (No Air-Con) 37,500 75,000 9,400 75,000 150,000 19,000
2 All Area (Show Day) 75,000 150,000 19,000 160,000 300,000 37,500
3 Foyer (Setup)            (No Air-Con) 15,000 25,000 3,125 37,500 62,500 8,000
4 Foyer (Show Day) 30,000 50,000 6,250 75,000 125,000 16,000
5 Area outside pond (North) 12,000  20,000  2,500  30,000  50,000  6,500 
  Area outside Boromrachoni Rd (South)
6 Yard pond side (North) 24,000  40,000  5,000  60,000  100,000  12,500 
  Yard Boromrachoni (South)

 

7 Rehearsal Room (B114) 5,500 10,000 1,250 16,000 30,000 3,700
8 Dance Studio (B130) (Online Studio) 4,500 8,500 1,070 16,000 30,000 3,700
9 VIP Room (B101) 3,500 6,000 750 8,000 15,000 1,800
10 Green Room (B121) 2,500 4,000 500 5,500 10,000 1,200
11 Meeting Room (B132) 2,000 3,500 450 3,000 5,000 600
12 Dressing Room 1 2,500 4,000 500 5,500 10,000 1,200
13 Dressing Room 2 2,500 4,000 500 5,500 10,000 1,200
14 Dressing Room 3 2,000 3,500 450 3,500 6,000 750
15 Dressing Room 4 2,000 3,500 450 3,500 6,000 750
16 Dressing Room 5 2,000 3,500 450 3,500 6,000 750
17 Dressing Room 6 2,000 3,500 450 3,500 6,000 750
18 Dressing Room 7 2,000 3,500 450 3,500 6,000 750
19 Security Deposit 20%
               

 

Disclaimer: Prices and information on this website are provided for informational purposes only. Prices, facilities, and other details are subject to change without notice. 

 

 

 

 

PMH Conference Center

ศูนย์ประชุมมหิดลสิทธาคาร

Coming soon

 

 

 

 

 

 

Contact

Mailing Address

Prince Mahidol Hall

999 Mahidol University, Phuttamonthon Sai 4 Rd.

Salaya, Phuttamonthon

Nakhonpathom 73170

 

Office

E-mail:  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Tel:  028496565 

 

Reservation PMH/MACM Box Office
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Tel 028496565/6 Ext. 6604,6609 (Monday – Friday at 9.00 a.m. – 5.00 p.m.)
Ext. 6624, 6626 (Concert day Friday up to 5.00 p.m./ Saturday up to 2.00 p.m.)

.......

Background Image

Header Color

:

Content Color

: