เปลี่ยนกระดาษ เปลี่ยนความรู้ ให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นได้ เป็นการให้ที่มีคุณค่าและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนของพวกเรา

กลุ่มนักศึกษาจากคณะกายภาพบำบัดร่วมกันสะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้จากกิจกรรมออกชุมชน “ในการทำกิจกรรมของนักศึกษาก็จะมีพี่ปีสามเป็นแกนนำ พี่ปีสี่เป็นคนให้คำปรึกษาและคอยช่วยเหลือ อาจารย์เป็นพี่เลี้ยง ส่วนน้องๆปีสองและปีหนึ่งด้วยความที่อาจจะยังมีความรู้ในวิชาชีพไม่เยอะมาก พี่ๆก็จะสอนให้น้องๆซึมซับไปทีละอย่าง เช่น สอนวิธีการตรวจร่างกายง่ายๆหรือว่าให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ เพื่อให้น้องๆลองไปคิดหรือหาข้อมูล จะได้มีประสบการณ์เพื่อถ่ายทอดสู่ชุมชนได้ น้องๆจะถูกฝึกเรื่องการแบ่งปัน การให้ การมีใจที่จะเข้าไปช่วยเหลือคนในชุมชน ฝึกการพูดคุยกับคนอื่น เกิดความรู้สึกสนุก เกิดความชอบและในอนาคตจะได้ทำงานเพื่อชุมชนมากขึ้น กิจกรรมนี้ไม่ใช่แค่เราไปให้ชุมชนเท่านั้น อีกมุมนึง พี่ๆที่ไปทำงานก็ให้น้องๆเหมือนกัน คือให้ความรู้และแรงบรรดาลใจ ก่อให้เกิดเป็นความผูกพันเล็กๆให้แก่น้องที่พึ่งเข้ามา เป็นการต้อนรับด้วยความอบอุ่น ด้วยการสอนกัน ด้านผลตอบรับก็จะเห็นเลยว่า เราไปมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ที่ดูแลคนไข้อีกทีนึง ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ทุกบ้านที่เราไป เราก็จะได้รอยยิ้มจากเขา เป็นสิ่งที่ทำให้เราภาคภูมิใจและดีใจที่ได้ไปช่วยเหลือเขา การให้เป็นสิ่งที่ดี คนให้ก็รู้สึกดี คนรับก็รู้สึกดี เราให้ในจุดที่เราสามารถให้เขาได้ตามความสามารถเท่าที่เรามีในตอนนี้ บางทีตอนเรียนเราอาจจะยังไม่รู้ว่าตรงนี้จะมีประโยชน์อะไรบ้างเพราะเราจะเห็นแต่ชีทที่เราใช้เรียนหรือหนังสือ วันหนึ่งเราได้เอาสิ่งตรงนี้ไปทำให้มันเกิดเป็นรูปธรรมขึ้น เปลี่ยนกระดาษ เปลี่ยนความรู้ ให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นได้ เป็นการให้ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่นและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนของพวกเรา”

Green Challenge เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก

“เราได้กระจายความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปลูกจิตสำนึกให้ไปได้ไกลขึ้น” เพื่อร่วมโครงการ Mahidol Day of Service โดยมีแนวคิดเพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้แสดงไอเดียด้านสิ่งแวดล้อมลงไปในความดีที่ทำ โดยการสื่อเอกลักษณ์ของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ของพวกเราลงไป พวกเราเลือกที่จะทำกิจกรรมนี้ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Instragram เพราะเป็นสื่อกลางที่ไม่ได้จำกัดพื้นที่แค่ในมหาวิทยาลัย ผู้คนส่วนใหญ่เล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์กันหมด พอพวกเราทำกิจกรรมท้าทายแบบนี้ มันก็จะแพร่ไปได้ไกล เหมือนพวกเราได้กระจายความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปลูกจิตสำนึกให้ไปได้ไกลขึ้นอีก อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่ง่ายที่สุดในการติดต่อสื่อสารกับคนอื่นเพราะเป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงได้ในปัจจุบัน ซึ่งกิจกรรมนี้พวกเราทำแบบส่งต่อคำท้าทายต่อไปเรื่อยๆ เช่น คนแรกเริ่มโพส Facebook ว่าเราชอบการปลูกต้นไม้เพื่อทำให้โลกไม่ร้อน แล้วจึงส่งคำท้าทายต่อเพื่อนอย่างน้อยสองคน เพื่อให้คนที่ถูกท้าทายได้รับคำท้าเพื่อคิดไอเดียรักษ์โลกและโพสลงเครือข่ายสังคมออนไลน์ของตนเองแล้วจึงส่งต่อคำท้าทาย เกิดเป็นเครือข่ายที่ขยายตัวไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในคณะ ภายในมหาวิทยาลัยหรือภายนอกก็สามารถร่วมกิจกรรมกับพวกเราได้” “มีคนคิดว่าจะทำ มีคนทำ มีคนเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ เราก็ถือว่ากิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จแล้ว” “ความท้าทายของพวกเราในกิจกรรมนี้คือ กลัวว่าจะไม่มีคนมาร่วมกิจกรรม กลัวว่าสุดท้ายจะมีแค่พวกเราทำกันเองและไม่มีใครสนใจ ปรากฏว่ามีคนสนใจเยอะมาก ผลตอบรับดีกว่าที่คิด ไม่ใช่เฉพาะแค่ข้างในคณะ มีพี่ๆกองกิจการนักศึกษา เพื่อนต่างคณะ และศิษย์เก่ามาร่วมกิจกรรมด้วย มาร่วมกันต่อยอดในสิ่งที่เราคิดไว้ อย่างน้องคนที่ได้รับรางวัลที่หนึ่งจากกิจกรรมนี้ก็ใช้ความคิดในการทำกระถางต้นไม้ที่สามารถรดน้ำไปแล้วยังนำน้ำกลับมารดได้อีก หรือน้องที่นำกระดาษที่ใช้แล้วทั้งสองหน้ามาพับทำเป็นที่ใส่ดินสอ ซึ่งหลายๆแนวคิดที่เกิดขึ้นอาจจะดูเหมือนไอเดียทั่วๆไป แต่ว่ากิจกรรมนี้ได้มีส่วนช่วยจูงใจให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยโลกใบนี้โดยเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัว พวกเรารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการบอกคนอื่น ถึงแม้ผู้ที่ได้รับฟังจะไม่ได้ร่วมกิจกรรมทุกคน แต่เมื่อได้มาเห็นกิจกรรมของพวกเราก็จะมีความเข้าใจ อย่างน้อยวันหนึ่งที่เขาเล่น Facebook เขาอาจจะมีความคิดที่สนใจสิ่งแวดล้อมขึ้นมาผ่านหน้าฟีด ซึ่งกิจกรรมนี้ก็ทำให้เกิด Facebook ชื่อ…

การต้อนรับน้องใหม่โดยใช้ความรู้ทางวิชาชีพผ่านกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์

ดร.กภ.วรรณเพ็ญ จันทร์ศิรินุเคราะห์ (ศิษย์เก่า รุ่น ๙๔) ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ คณะกายภาพบำบัด “ที่มาเริ่มแรกมาจากรุ่นพี่อยากที่จะรับน้องใหม่ ซึ่งปกติพี่ๆก็จะมีกิจกรรมแนะนำตัวเอง ทำบายศรี แนะนำการเรียนในมหาวิทยาลัย เป็นต้น คราวนี้รุ่นพี่อยากต้อนรับน้องๆโดยใช้ความรู้ทางวิชาชีพของพวกเราให้มากขึ้น และอยากถ่ายทอดความรู้นี้ผ่านกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ก็เลยเป็นที่มาของกิจกรรมออกชุมชนของพวกเรา เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๔ พอเรามีน้องใหม่เข้ามาเราก็จะจัดกิจกรรมหลักๆสามแบบ คือ ๑.ออกหน่วยให้บริการตรวจประเมินการรักษาทางกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด ๒.ส่งเสริมสุขภาพทางกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด  และ ๓.ให้บริการการรักษาผู้ป่วยที่บ้าน เพราะคนไข้เหล่านี้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เป็นผู้ป่วยติดเตียง เราจะให้ความรู้กับผู้ป่วยเองและญาติที่คอยดูแลด้วย”

กิจกรรมจิตอาสา…ตอบปณิธานของมหาวิทยาลัยในการเป็นปัญญาของแผ่นดินได้

นาย ชาตรี ลุนดำ (ศิษย์เก่า รุ่น ๑๑๑) ผู้ประสานงานเทคนิคการแพทย์ชุมชนและที่ปรึกษากลุ่มละอองฝุ่น ประกายฝัน “จริงๆเรื่องกิจกรรมจิตอาสาเราทำมาตลอดเพราะเรารู้สึกว่ามันทำแล้วตอบปณิธานของมหาวิทยาลัยในการเป็นปัญญาของแผ่นดินได้ เราทำกิจกรรมแบบที่อยากทำแต่ต้องทำให้ต่อเนื่องเพื่อให้เราได้กลับมารวมตัวกัน เช่น เดือนกุมภาพันธ์ เราก็จะคิดไว้เลยว่าเราจะส่งต่อความรักให้กับคนที่เรารัก อาจจะเป็นคุณป้าที่นอนติดเตียงก็ได้ เราใช้ความรักเป็นองค์ประกอบในการพาคนมาทำกิจกรรม ตอนวันเด็กเราก็คิดว่าตอนเป็นเด็กเราอยากได้อะไร เราอยากร่วมกิจกรรมที่ไหน เราเลยไปจัดกิจกรรมให้ถึงที่ที่แคมป์คนงานก่อสร้าง จึงได้ภาพที่เราอยากทำจริงๆ เด็กๆก็ออกมาร่วมกิจกรรมเยอะมาก เราก็มีความสุขมากขึ้นจากการคิดอะไรใหม่ๆในเชิงกิจกรรม”

การแบ่งปันคือการส่งต่อการเป็นคนให้ซึ่งกันและกัน ก็จะได้รับความสุขกลับมาทั้งผู้ให้และผู้รับ

ดร.ปัทมาภรณ์ จุมปา (ศิษย์เก่า รุ่น ๑๑๘) สมาชิกกลุ่มละอองฝุ่น ประกายฝัน “มันเหมือนเป็นมุมเล็กๆในชีวิตเราที่เรารู้สึกได้ทำอะไรบางอย่างที่เป็นสิ่งยิ่งใหญ่เพื่อคนอื่น คืออย่างช่วงเรียนต่ออาจมีช่วงเวลาที่เราท้อแท้ การกลับมาทำกลุ่มกับเพื่อนๆเป็นพลังที่ทำให้เรามีกำลังใจในการก้าวเดิน ในเมื่อเรามีโอกาสที่ดีกว่าคนอื่นๆเราก็ส่งต่อโอกาสให้คนกลุ่มด้อยกว่าแล้วคนกลุ่มนั้นก็จะกลับมาช่วยให้เราเดินได้ต่อ การแบ่งปันคือการส่งต่อการเป็นคนให้ซึ่งกันและกัน ก็จะได้รับความสุขกลับมาทั้งผู้ให้และผู้รับ ถามว่าได้อะไรที่เป็นรูปธรรมไหม ก็ไม่ชัดเจนนะคะ แต่ว่าเป็นความรู้สึกมากกว่า ที่กลับมาทำแล้วเติมเต็มตัวเองรู้สึกว่าเรามีคุณค่า กลุ่มเราก็ไม่ได้ปิดกั้นอะไร ใครสนใจก็มาร่วมกับพวกเราได้ค่ะ”

ใช้เรื่องของความเป็นเพื่อน ความที่อยากเจอเพื่อนและอยากทำสิ่งอะไรดีๆให้กับสังคมมาเป็นตัวตั้ง

ดร.เริงวิชญ์ นิลโคตร (ศิษย์เก่า รุ่น ๑๑๐) อาจารย์ประจำภาควิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชนอาจารย์ คณะเทคนิคการแพทย์ “เราก็เฝ้าดูน้องๆศิษย์เก่ากลุ่มนี้ผ่านกิจกรรมที่ทำอยู่ เราเห็นว่าพวกเขาเริ่มต้นได้ดีมากๆ คือใช้เรื่องของความเป็นเพื่อน ความที่อยากเจอเพื่อนและอยากทำสิ่งอะไรดีๆให้กับสังคมมาเป็นตัวตั้งก่อน แล้วค่อยสร้างแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมจิตอาสาจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับ สร้างออกมาเป็นกิจกรรม ทางเรามีโอกาสได้ไปดูน้องๆทำหลายกิจกรรม เช่น ไปเยี่ยมผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน หรือแม้กระทั่งผู้เสียชีวิตในชุมชน เรารู้สึกว่าสิ่งที่น้องๆทำเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ใหญ่อย่างเราได้ด้วย เมื่อน้องๆทำดีแบบนี้เราก็สนับสนุนโดยการเชื่อมต่อบางจุดที่เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารับไม้ต่อ เช่น กรณีที่ต้องใช้ความเป็นวิชาชีพเพื่อช่วยผู้พิการที่ต้องการออกกำลังกายแบบถูกวิธีที่น้องๆส่งต่อมา ก็จะมีอาจารย์ที่เป็นจิตอาสาจากคณะกายภาพบำบัดไปช่วย เราส่งต่อสิ่งที่น้องๆทำและหล่อเลี้ยงกระบวนการนี้โดยใช้เครือข่ายต่างๆ ซึ่งเมื่อน้องๆทำอะไรไปแล้วเราก็ไม่ได้ทิ้งไปแต่เป็นการรับไม้ต่อไปเรื่อยๆ”