เกี่ยวกับ ทอมก

การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาขั้นปริญญาของประเทศไทย แต่เดิมมาจัดแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งมีสถานะเป็นส่วนราชการ และสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ในการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีฐานะเป็นส่วนราชการ ได้รับพิจารณาว่า ยังไม่คล่องตัว ไม่มีความเป็นอิสระ ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ผูกติดกับความเป็นส่วนราชการทั่วไปอยู่หลายประการ ซึ่งไม่เอื้อ ไม่เหมาะสมกับการสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสูงสุด โดยสามารถตัดสินใจได้ในระดับสถาบันให้มากที่สุด ดังนั้นในปีพุทธศักราช 2533 จึงได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เป้นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการ โดยมุ่งหวังให้มีความอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากกว่าที่สถาบันอุดมศึกษา ของรัฐมีอยู่ในขณะนั้นและถือเป็นนโยบายทางการศึกษาที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลในช่วงนั้น ต่อมาได้มีการจัดตั้งและเปลี่ยนสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (จัดตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2535) มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (เปลี่ยนสภาพเมื่อปีพุทธศักราช 2540) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (เปลี่ยนสภาพเมื่อพุทธศักราช 2540) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (เปลี่ยนสภาพเมื่อพุทธศักราช 2541) และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (จัดตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2541)

ในระยะเริ่มแรก แต่ละมหาวิทยาลัยได้ทำกาพัฒนา จัดระบบวางระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัยของตน ซึ่งการพัฒนาของแต่ละมหาวิทยาลัยยังมีความหลากหลายและแตกต่างกัน ดังนั้น ในปีพุทธศักราช 2542 อธิการบดีของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐได้พิจารณาเห็นว่า ในขณะนั้นประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอยู่ 6 แห่ง และจะมีจำนวนมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล การบริหารมหาวิทยาลัยในรูปแบบนี้มีหลักการและแนวปฏิบัติที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการ รวมทั้งเป็นรูปแบบใหม่ที่ยังจะต้องร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ระบบบริหารมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักการของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐควรที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยดังกล่าวจะได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์ และความชำนาญการเพื่อประโยชน์ในการพัฒนา แก้ปัญหาการบริหารและส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน จึงได้มีความเห็นพ้องต้องกันในอันที่จะจัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือระหว่างอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐขึ้น เป็นการประชุมโดยได้กำหนดให้มีข้อตกลงว่าด้วยที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ พ.ศ. 2542 ขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2542 โดยมีองค์ประกอบดังนี้

1. อธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่เข้าร่วมข้อตกลงในปัจจุบันและที่จะเข้าร่วมข้อตกลงในอนาคต
2. ผู้ที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ กำหนดจากรองอธิการบดีแห่งละไม่เกิน 2 คน

ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะเลือกอธิการบดีคนหนึ่งเป็นประธานของ
ที่ประชุม โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี แต่อาจได้รับเลือกใหม่อีกได้ และให้ประธานของที่ประชุมเลือกเลขาธิการคนหนึ่งจากรองอธิการบดีที่เป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เลขานุการของที่ประชุม

ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และติดต่อประสานงานในเรื่องที่อยู่ในขอบข่ายความสนใจร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่เข้าร่วมข้อตกลง โดยไม่ก้าวก่ายหรือแทรกแวงกิจการภายในของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ในการดำเนินงาน ได้จัดให้มีสำนักงานเลขาธิการที่ประชุมขึ้น ให้เลขาธิการทำหน้าที่กำกับดูแล โดยที่ทำการอยู่ที่หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรานารี อาคารพญาไทพลาซา ชั้น 22 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร และเพื่อให้ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐสามารถดำเนินงานได้ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่เข้าร่วมข้อตกลงจะร่วมกันรับผิดชอบงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของที่ประชุมฯ การเก็บรักษาและการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามที่ที่ประชุมฯ กำหนด

WordPress theme: Kippis 1.15