โลก IT

SSD (Solid State Drive) ชื่อนี้ที่อยากให้รู้จัก

หลายสัปดาห์ก่อนมีผู้ฟังรายการวิทยุที่ผมจัดอยู่ เล่าให้ฟังว่ากำลังอยากจะได้เครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุคเครื่องใหม่ หลังจากที่ทนใช้ครื่องเก่ามานานจนแก่ จึงไปเดินดูสเปคตามร้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และไอทีในห้างสรรพสินค้า แล้วเห็นว่าหน่วยความจำที่ใช้เก็บข้อมูลมันเปลี่ยนไป ไม่ได้เรียกว่า Harddisk เหมือนเคย แต่กลับเรียกว่า SSD ซึ่งสังเกตความจุที่ได้แล้วก็ลดน้อยลง จึงสอบถามไปยังพนักงานขาย ซึ่งก็อธิบายว่าเป็นรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลชนิดใหม่ที่ดีกว่า Harddisk เรียกชื่อเต็มๆ ว่า Solid State Drive แล้วผู้ฟังท่านนี้ก็ถามข้อมูลต่างๆ กับผมจนกระจ่างแก่ใจ ในที่สุดก็กล้าตัดสินใจไปเลือกซื้อโน้ตบุคมาหนึ่งเครื่องโดยที่ยังไม่ได้คุยกันอีกว่ามี SSD เป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลหรือเปล่า

HDD-vs-SSD

ผมเองก็เห็นว่าเดี๋ยวนี้คอมพิวเตอร์โน้ตบุครุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะพวกที่เรียกว่า Ultrabook ตัวเล็กๆ บางๆ นิยมใช้สื่อบันทึกข้อมูลชนิดนี้ จึงอยากจะนำมาเขียนเล่าให้ได้อ่านไปพร้อมกันครับ เพราะผมคิดว่า SSD ชื่อนี้ที่อยากให้คุณได้รู้จัก

SSD ชื่อนี้ที่ต้องจำไว้

SSD หรือชื่อเต็มๆ ว่า Solid State Drive เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลของคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะการใช้งานเหมือนกับฮาร์ดดิสก์ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่รูปแบบการบันทึกข้อมูลของ SSD จะเป็นการบันทึกข้อมูลแบบ Flash Memory คือเป็นการใช้ชิพหน่วยความจำเก็บข้อมูลแทนจานแม่เหล็กในฮาร์ดดิสก์ ถ้านึกภาพไม่ออกว่า Flash Memory เป็นยังไง ก็ให้นึกถึงอุปกรณ์จำพวก Flash Drive หรือ Thumb Drive ที่เรานิยมใช้กันอยู่ในทุกวันนี้นั่นล่ะครับ
SSD นั้นผลิตออกมาเป็น 2 แบบ คือ

NOR Flash ซึ่งเป็นหน่วยความจำที่มีการเชื่อมต่อกันแบบขนาน ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระ อ่านข้อมูลเร็วมาก แต่มีความจุต่ำ และราคาแพงมาก
NAND Flash เป็นแบบเข้าถึงข้อมูลทีละบล็อก ทำให้มีความจุสูง ราคาถูกกว่าแบบแรก

ข้อดีของ SSD ที่ชวนให้ลอง

– ใช้เวลาเข้าถึงข้อมูลน้อยกว่าฮาร์ดดิสก์ เพราะไม่มีหัวอ่าน ไม่มีจานแม่เหล็ก ไม่ต้องหมุน สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เลย ปัจจุบัน SSD มีความเร็วในการอ่านถึง 120 MB/s และเขียนที่ 100 MB/s ซึ่งเกือบจะเร็วเท่าฮาร์ดดิสก์ที่เร็วที่สุดอยู่แล้ว และสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล

– ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูล SSD ที่สูงกว่าฮาร์ดดิสก์อย่างมาก จากผลการทดสอบที่กล่าวมา ซึ่งส่งผลดีต่อการใช้โปรแกรมที่ต้องดึงข้อมูลจำนวนมากจากอุปกรณ์จัดเก็บ ข้อมูลมาประมวลผล เช่น การทำงานด้านการออกแบบกราฟิก, การตัดต่อวิดีโอ รวมถึงการ Boot เครื่องด้วย

– ไม่มีชิ้นส่วนใดที่เคลื่อนไหวระหว่างการทำงาน ต่างกับฮาร์ดดิสก์ที่มีการเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนตลอดเวลาที่มีการอ่าน – เขียนข้อมูล ส่งผลให้ SSD เกิดความร้อนน้อย กินไฟต่ำ จึงเหมาะกับการใช้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานนอกสถานที่และต้องการใช้ พลังงานจากแบตเตอรี่เป็นเวลานาน

– สามารถทนต่อแรงกระแทกได้ดีกว่าฮาร์ดดิสก์ เนื่องจากไม่มีชิ้นส่วนที่เป็นกลไกเคลื่อนไหว

– ไม่มีเสียงดังรบกวนในขณะทำงาน

– ขนาดของ SSD มี 2 ขนาด คือ 2.5 นิ้ว และ 1.8 นิ้ว ซึ่งเล็กกว่าฮาร์ดดิสก์ที่มีขนาด 3.5 นิ้ว และ 2.5 นิ้ว ทำให้มีน้ำหนักเบากว่า

– มีการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยติดมากับตัว SSD ตัวอย่างเช่น SSD Intel 320 Series มีระบบเข้ารหัสแบบ Advanced Encryption Standard (AES) แบบฮาร์ดแวร์ 128-bit มาให้ด้วย

– ตัดปัญหาเรื่อง การกระจายของไฟล์ (File Fragmentation) เพราะไม่มีผลต่อ ความเร็วของ SSD

ข้อจำกัด SSD ที่ต้องคิดหนักๆ

– ความจุของข้อมูลที่ยังจุได้น้อยกว่าฮาร์ดดิสก์ เมื่อเทียบในระดับราคาที่ใกล้เคียงกัน

– ในปัจจุบันยังมีราคาแพง เมื่อเทียบกับฮาร์ดดิสก์แบบปกติ จึงทำให้เวลาตัดสินใจจะซื้อ อาจจะต้องคิดแล้วคิดอีกว่า จะจำเป็นหรือเหมาะกับงานของเราหรือไม่ ถ้างานที่ต้องทำต้องเก็บข้อมูลเยอะๆ ไม่ต้องการความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลมาก ฮาร์ดดิสก์ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ถ้าไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลในไว้เครื่องเยอะๆ แต่ต้องการการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็วก็น่าลอง
แนวโน้มและทิศทางของ SSD

       จากข้อดี และความสามารถของเทคโนโลยีแบบ SSD ซึ่งมีข้อได้เปรียบหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล ที่ทนทานกว่าฮาร์ดดิสก์แบบเก่า เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีหัวอ่านแบบเก่า และยังสามารถป้องกันการกระแทกได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย ดังนั้นทางบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านซีพียู อย่าง Intel ซึ่งก็เป็นผู้ผลิต SSD รายใหญ่อีกด้วย ก็ได้มีการพัฒนาในเรื่องของ SSD และได้มีสินค้าออกสู่ตลาดมากขึ้น ถึงแม้ว่าขนาดความจุของ SSD ยังเป็นรองฮาร์ดดิสก์ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ที่ต้องการประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

        และในเวลาอันใกล้นี้ SSD จะมีความจุและความเร็วเพิ่มขึ้นสูงกว่าในอดีตอย่างมาก และจะมีผู้ผลิตหลายรายที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์นี้ โดยการเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ ที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น ในขณะที่ราคาเริ่มลดลง ซึ่งเป็นการดีต่อผู้บริโภคในการได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ฮาร์ดดิสก์เริ่มถึงจุดอิ่มตัวของการพัฒนาแล้ว และไม่น่าจะมีการพัฒนาที่แตกต่างไปจากปัจจุบัน มากนัก นอกจากมีความจุที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในราคาที่ถูกลง แต่ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลยังคงไม่แตกต่างไปจากเดิม

        ดังนั้น อนาคตของ SSD น่าจะถูกเลือกเป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลลำดับต้นๆ เนื่องจากได้รับการพัฒนาให้มีความจุสูงขึ้นรวมทั้งราคาที่น่าจะถูกลง เหมือนกรณี USB Flash Drive ที่ราคาในช่วงแรก ขนาดความจุ 8 MB มีราคาระดับหลักพันบาท ในขณะที่ปัจจุบัน USB Flash Drive ความจุ 8 GB มีราคาเพียง 300 – 400 บาทเท่านั้น ซึ่งก็จะเป็นโอกาสให้เราได้ใช้ SSD ในราคาที่คุ้มค่ามากขึ้นนั่นเอง

WordPress theme: Kippis 1.15