แนะนำ ทอมก

ความเป็นมา

การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาขั้นปริญญาของประเทศไทย แต่เดิมมาจัดแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งมีสถานะเป็นส่วนราชการ และสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ในการดำเนินงาน สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีฐานะเป็นส่วนราชการ ได้รับการพิจารณาว่า ยังไม่คล่องตัว ไม่มีความเป็นอิสระ ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ผูกติดกับความเป็นส่วนราชการทั่วไปอยู่หลายประการ ซึ่งไม่เอื้อ ไม่เหมาะสมกับการสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสูงสุด โดยสามารถตัดสินใจได้ในระดับสถาบันให้มากที่สุด ดังนั้น ในปีพุทธศักราช 2533 จึงได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการ โดยมุ่งหวังให้มีความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากกว่าที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีอยู่ในขณะนั้น และถือเป็นนโยบายทางการศึกษาที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลในช่วงนั้น ต่อมาได้มีการจัดตั้งและเปลี่ยนสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (จัดตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2535) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (เปลี่ยนสภาพเมื่อปีพุทธศักราช 2540) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (เปลี่ยนสภาพเมื่อปีพุทธศักราช 2540) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (เปลี่ยนสภาพเมื่อปีพุทธศักราช 2541) และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (จัดตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2541)image_about_001

ในระยะเริ่มแรก แต่ละมหาวิทยาลัยได้ทำการพัฒนา จัดระบบ วางระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการบริหาร จัดการภายในมหาวิทยาลัยของตน ซึ่งการพัฒนาของแต่ละมหาวิทยาลัยยังมีความหลากหลายและแตกต่างกัน ดังนั้น ในปีพุทธศักราช 2542 อธิการบดีของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐได้พิจารณาเห็นว่า ในขณะนั้นประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอยู่ 6 แห่ง และจะมีจำนวนมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาล การบริหารมหาวิทยาลัยในรูปแบบนี้ มีหลักการและแนวปฏิบัติที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัย ของรัฐที่เป็นส่วนราชการ รวมทั้งเป็นรูปแบบใหม่ที่ยังจะต้องร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ระบบบริหาร มหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักการของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ควรที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัย ดังกล่าวจะได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และความชำนาญการเพื่อประโยชน์ในการพัฒนา แก้ปัญหาการบริหาร และส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน จึงได้มีความเห็นพ้องต้องกันในอันที่จะจัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือระหว่างอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐขึ้น เป็นการประชุมโดยได้กำหนดให้มีข้อตกลงว่าด้วยที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ พ.ศ. 2542 ขึ้นเมื่อ วันที่ 8 ธันวาคม 2542

WordPress theme: Kippis 1.15